sondmk header
สูตรคำนวน สำหรับธุรกิจ

การหาจุดคุ้มทุน

cradit: http://www.investerest.co/business/how-to-calculate-the-break-even-point/

วิธีคำนวณ ” จุดคุ้มทุน ” อย่างง่าย สำหรับเจ้าของกิจการ
ร้านควรขายให้ได้กี่บาทต่อวัน? ยอดขายเท่าไหร่จึงไม่ขาดทุน?

จุดคุ้มทุน คืออะไร?

คุณกำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ใช่ไหม (แหม่ ขึ้นซะเป็นขายตรงทางทีวีเลย) เอาเป็นว่าหากเจ้าของธุรกิจคนไหนกำลังงงๆ กับการคิดจุดคุ้มทุน การตั้งเป้ายอดขายรายวันให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย วันนี้ ลงทุนศาสตร์จึงขอเสนอวิธีการคำนวณจุดคุ้มทุนอย่างง่ายให้ลองไปใช้กัน

ก่อนอื่นต้องแยกระหว่าง “ต้นทุนผันแปร” กับ “ต้นทุนคงที่” ก่อน อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร
ต้นทุนผันแปร(VC) คือต้นทุนที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามยอดขาย ขายมากจ่ายมาก ขายน้อยจ่ายน้อย ส่วนใหญ่เป็นพวกต้นทุนวัตถุดิบและค่าคอมมิชชัน เช่น ร้านอาหาร ต้นทุนผันแปรจะเป็นพวกวัตถุดิบที่อยู่ในอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ข้าว รวมไปถึงพวกบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องโฟม ช้อนพลาสติก ถ้าหากกิจการมีค่าคอมมิชชัน ค่าใช้จ่ายตรงนั้นก็มักจะนับเป็นต้นทุนผันแปรด้วย

ต้นทุนคงที่(FC) คือต้นทุนที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปตามยอดขาย ขายมากก็จ่าย ขายน้อยก็จ่าย ส่วนใหญ่เป็นพวกค่าแรงพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟค่าเช่าสถานที่ ค่าดอกเบี้ยจ่ายธนาคาร ค่าใช้จ่ายตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงน้อยแม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้น เช่น ขายข้าวได้ 10 จานหรือ 100 จานก็จ่ายค่าเช่าตึกเท่าเดิม

รู้จักต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่แล้ว เจ้าของกิจการก็ต้องมาแยกค่าใช้จ่ายทั้งหมดว่าค่าใช้จ่ายไหนเป็นผันแปรและคงที่ ทำตรงนี้เสร็จก่อนค่อยไปขั้นตอนถัดไป

การคำนวณ “อัตรากำไรส่วนเกิน”

อัตรากำไรส่วนเกิน = (รายได้ – ต้นทุนผันแปร) / รายได้
หรือพูดง่ายๆ คือ เราต้องรู้ว่าเรามีกำไรกี่เปอร์เซ็นต์จากการขายหลังจากที่หักต้นทุนผันแปรออกไป

ยกตัวอย่างเช่น ร้านข้าว ขายข้าวจานละ 40 บาท ต้นทุนอาหาร ได้แก่ ข้าว 3 บาท หมู 5 บาท ผัก 2 บาท แบบนี้ต้นทุนผันแปรคือ 10 บาทจากยอดขาย 40 บาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรส่วนเกิน 75% นั่นเอง

หรือ ร้านขายของชำซื้อของมาเท่าไหร่ จะตั้งราคาขายบวกไปอีก 25% แบบนี้ อัตรากำไรส่วนเกินเท่ากับ 20% เช่น ผงซักฟอกซื้อมา 100 บาท ขาย 125 บาท เท่ากับได้กำไรส่วนเกิน 25 บาทจากยอดขาย 125 บาทนั่นเอง เจ้าของกิจการต้องคำนวณอัตรากำไรส่วนเกินแบบคร่าวๆ ของกิจการของตนเอง ประมาณว่าซื้อวัตถุดิบเท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ ส่วนต่างตรงนั้นคือกำไรส่วนเกิน

การคำนวณจุดคุ้มทุน

จุดคุ้มทุน = ยอดขายที่กิจการจะไม่ขาดทุน = (ต้นทุนคงที่ / อัตรากำไรส่วนเกิน)
ตัวอยากเช่น ร้านขายของชำร้านเมื่อกี้ อัตรากำไรส่วนเกินเท่ากับ 20% ต้นทุนคงที่ ได้แก่ ค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าแรงพนักงาน รวมแล้ว 30,000 บาทต่อเดือน จุดคุ้มทุนจะเท่ากับ 30,000/0.2 หรือ 150,000 บาทต่อเดือน เทียบเท่ากับ 5,000 บาทต่อวันนั่นเอง หมายถึงร้านนี้ต้องขายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อวันถึงจะไม่ขาดทุน

อีกตัวอย่าง ร้านขายยาหนึ่งขายยาโดยบวกกำไร 20% จากราคายา ถ้าร้านนี้มีต้นทุนคงที่ (ค่าแรง ค่าเช่าตึก ค่าน้ำค่าไฟ) 50,000 บาทต่อเดือน ร้านนี้ต้องตั้งเป้ายอดขายเท่าไหร่จึงจะไม่ขาดทุน และหากต้องการกำไร 20,000 บาทต่อเดือน ร้านนี้ต้องตั้งเป้ายอดขายเท่าไหร่

คำนวณอัตรากำไรส่วนเกิน โดยสมมติซื้อยามา 100 บาท ขาย 120 บาท อัตรากำไรส่วนเกิน = 20/120 หรือเท่ากับ 16.67% หาจุดคุ้มทุนโดยใช้ต้นทุนคงที่หารอัตรากำไรส่วนเกิน จุดคุ้มทุนจึงอยู่ที่ 50,000/0.1667 เท่ากับ 299,940 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 10,000 บาทต่อวัน แล้วถ้าอยากได้กำไร 20,000 บาทต่อเดือนคิดอย่างไร คำตอบง่ายๆ คือ ใส่กำไรที่อยากได้ลงไปเป็นต้นทุนคงที่

ดังนั้น กรณีร้านขายยานี้จะมีต้นทุนคงที่เพิ่มเป็น 70,000 บาท ยอดขายที่ต้องตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 419,916 บาทต่อเดือนหรือ 14,000 บาทต่อวัน ซึ่งคำนวณมาจาก 70,000 หารด้วย 0.1667 นั่นเอง
ไม่ยากอย่างที่คิดเลยใช่ไหมกับการคำนวณจุดคุ้มทุน วิธีคิดแบบนี้สามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจแบบไหนก็ได้ ขอเพียงเข้าใจก็พอว่าต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่มีอะไรบ้าง ต่อไปก็จะสามารถตั้งเป้ายอดขายตั้งเป้ากำไรได้อย่างไม่งงงวยอีกต่อไปแล้ว

แอบกระซิบว่าอย่าลืมคำนวณเรื่องภาษีด้วยนะ

Framework

Library


เครื่องมือพัฒนาเว็บ



การออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์


Download SourceCode



copyAllright © 2016 soundmk.com